Last updated: 8 ก.ค. 2562 | 44110 จำนวนผู้เข้าชม |
ฝ้าเพดานสูง
ข้อควรรู้ก่อนออกแบบบ้านให้มีฝ้าเพดานสูง
เป็นอีกประเด็นที่มักไถ่ถามและถกเถียงกันบ่อยครั้ง ถึงระยะความสูงจากพื้นบ้านสู่ฝ้าเพดาน สูงเท่าไหร่ถึงจะดี ? บ้างก็ให้คำตอบว่า 2.6 เมตรก็เพียงพอแล้ว บ้างก็ให้คำตอบว่า ต้องสูง 3 เมตรหรือสูงกว่านี้ยิ่งดี นับว่าเป็นประเด็นที่มีคำตอบอย่างหลากหลาย ทำให้หลาย ๆ ท่านที่กำลังคิดออกแบบบ้านใหม่กลับต้องเป็นกังวลไปตาม ๆ กัน ค้นหาข้อมูลจากเว็บไซต์หรือหนังสือเล่มไหนก็ไม่อาจได้คำตอบที่ชัดเจนเสียที เนื้อหาชุดนี้ “บ้านไอเดีย” จึงขอแนะนำข้อมูลไว้เป็นตัวเลือกในการพิจารณาออกแบบฝ้า เพื่อให้การอยู่อาศัยเหมาะสมลงตัวมากยิ่งขึ้น
หากให้ตอบแบบชัด ๆ ฟันธงเป็นตัวเลข คงไม่สามารถตอบได้อย่างแน่นอนครับ เนื่องด้วยระดับฝ้าเพดานที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยเสริมอื่น ๆ อาทิ ความกว้างของห้อง , ลักษณะพื้นที่ในการใช้งาน ตัวอย่างเช่น ห้องมีความกว้างมากแต่ฝ้าเพดานต่ำ ผู้อยู่อาศัยภายในห้องดังกล่าวจะรู้สึกอึดอัดเหมือนกำลังถูกกดทับ เราจะสังเกตได้ว่า ห้องประชุม ห้องทำงาน หรือสถานที่กิจกรรมสาธารณะ นิยมออกแบบให้ฝ้าเพดานสูงกว่าปกติมาก ส่วนห้องที่เล็ก แคบ หากปรับให้ฝ้าเพดานสูงเกินไป ห้องจะดูสูงโลด แปลกตา
สำหรับบ้านเรือนทั่วไปความสูงมาตรฐานที่นิยมใช้กันประมาณ 2.5-2.8 เมตร หรือหากชอบโปร่งหน่อยประมาณ 2.8 – 3.2 เมตร เว้นแต่ห้องที่ต้องการความสูงเป็นพิเศษอาจเลือกระดับความสูงมากกว่านี้
ห้องไหนควรฝ้าสูง ห้องไหนควรฝ้าต่ำ
ห้องที่ควรทำฝ้าสูง ลักษณะการใช้งานเน้นการทำกิจกรรมร่วมกัน หรือเป็นห้องสำหรับพักผ่อนในช่วงกลางวัน เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก ห้องครัว ห้องทานอาหาร ห้องอ่านหนังสือ ห้องทำงาน ส่วนห้องนอน ไม่ควรทำฝ้าเพดานสูงเกินไป มิเช่นนั้นขณะนอนผู้นอนจะรู้สึกเวิ้งว้าง นอนหลับยาก นอกจากนี้ห้องที่ไม่ควรทำฝ้าสูงมากคือห้องที่มีขนาดเล็ก อาทิ ห้องน้ำ
คิดทบทวนอีกครั้ง ก่อนออกแบบฝ้าสูง
อย่างที่ทราบกันเบื้องต้นแล้วว่า ฝ้าเพดานสูง หากอยู่ภายในห้องที่เหมาะสมช่วยทำให้บ้านดูโปร่ง ห้องรับแขกบางบ้านเลือกที่จะเปิดโปร่งด้วยการออกแบบในลักษณะ Double Space ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกสบาย นั่งได้ยาวนานกว่าปกติ แต่ข้อดีของความโปร่งสบายนั้นต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และอาจส่งผลกระทบกับพื้นที่บางส่วน ดังนี้
เมื่อฝ้าเพดานสูงขึ้น การทำผนังต้องสูงขึ้นตาม นั่นหมายถึงค่าอิฐ ปูนก่อ ปูนฉาบ ค่าแรงย่อมสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังส่งผลให้น้ำหนักมากขึ้น ค่าโครงสร้างย่อมสูงขึ้นตามเช่นกัน
เมื่อฝ้าเพดานสูงขึ้นมาก หากเลือกใช้ประตูหน้าต่างขนาดมาตรฐาน อาจจะทำให้ดูไม่สมส่วนกัน บ้านที่มีเพดานสูงจึงจำเป็นต้องเปิดช่องประตู ช่องหน้าต่างให้สูงตาม และบานประตูหน้าต่างที่สูงปกติไม่มีขายทั่วไป จำเป็นต้องสั่งทำขนาดพิเศษขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าขนาดมาตรฐานทั่วไปครับ
กรณีบ้าน 2 ชั้นขึ้นไป ยิ่งออกแบบห้องให้สูงมากเท่าไหร่ ยิ่งเปลืองพื้นที่สำหรับบันไดบ้านมากขึ้นเท่านั้น เพราะยิ่งระดับความสูงมากขึ้น จำนวนขั้นบันไดมากขึ้น จึงต้องใช้พื้นที่ของลูกบันไดมากขึ้นตามอัตโนมัติ
ลักษณะฝ้าเพดานสูงช่วยให้เกิดความปลอดโปร่ง ในวันที่อากาศดี ๆ อาจไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์ เพียงแค่เปิดพัดลมก็สามารถสบายกายได้ แต่หากเป็นบ้านในลักษณะปิด ไม่ค่อยเปิดหน้าต่าง ไม่มีช่องลมให้อากาศท่ายเท ห้องลักษณะนี้จำเป็นต้องเปิดแอร์ เมื่อพื้นที่เยอะขึ้น เครื่องปรับอากาศย่อมทำงานหนักขึ้น ค่าไฟจึงขึ้นตาม
ในด้านแสงสว่าง ฝ้าที่สูงหลอดไฟทั่วไปอาจให้กำลังแสงสว่างไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเลือกหลอดไฟที่มีค่าวัตต์สูงขึ้นครับ
กรณีห้องแคบ โถงทางเดินที่แคบ หากออกแบบให้ฝ้าเพดานสูง อาจทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกอึดอัดแทนที่จะได้ความโปร่งสบาย เนื่องด้วยขนาดที่ไม่ได้สัดส่วนกันจะเป็นผลให้ห้องดูแคบมากกว่าเดิมได้
กรณีหลอดไฟเสีย หรือต้องการซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ที่ติดตั้งไว้บริเวณฝ้าเพดาน หากสูงมากจะยากต่อการบำรุงรักษา
เป็นเช่นไรกันบ้างครับ พอจะได้คำตอบกันบ้างแล้วหรือยังว่า ห้องแต่ละห้องภายในบ้านของเรา ควรมีความสูงของฝ้าประมาณเท่าไหร่ถึงจะดี และนอกจากความเหมาะสมด้านสถาปัตยกรรมแล้ว ความเหมาะสม ความพอดีในแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน หากเป็นไปได้ก่อนออกแบบ เจ้าของบ้านลองหาโอกาสเยี่ยมบ้านเพื่อน บ้านญาติ เพื่อให้ได้สัมผัสถึงขนาดสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไป อาจจะได้คำตอบที่ชัดเจนยิ่งขึ้นครับ
บทความนี้ได้ข้อมูลมากจาก https://www.banidea.com
Link : https://www.banidea.com/ceiling-height/
17 ต.ค. 2562
23 ก.ย. 2562
11 พ.ย. 2563
26 ต.ค. 2563